
สัมภาษณ์ คุณวิสุทธิชัย บุษยพงศ์ภักดี
โดย อมรรัตน์ เกรียงขจร
Freelancer คนทำงานอิสระ หรืออาชีพรับจ้างอิสระ คงจะเริ่มมีเมื่อ 30 ปีก่อนเป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีงานไม่ประจำ และรายได้ไม่มั่นคง โดยเฉพาะกลุ่มรับจ้างเขียน และงานวิจัย จะมีวงจรชีวิตประหลาด เพราะกิน นอน หรือพักผ่อนเที่ยวเตร่ ไม่เป็นเวลา หากต้องเร่งทำงานส่งก็ต้องอดหลับอดนอน หากเงินเก็บหมด และไม่มีงานทำก็ต้องต้มน้ำฉีกซองทานอาหารญี่ปุ่น (มาม่า) จะว่าไปแล้ว น่าจะน้อยคนนักที่ประกาศตัวว่า ใฝ่ฝันจะเป็น Freelancer
วิสุทธิชัย หรือบี เป็นรุ่นน้องคนหนึ่ง รู้จักกันเมื่อ 4 ปีก่อน ปี 2564 บีรับงานที่ปรึกษามากกว่า 5 โครงการ จึงต้องเร่งส่งงานทุกคืน ส่วนช่วงกลางวันต้องขับรถพาคนในครอบครัวหาหมอ เป็นปีที่สภาพชีวิตชุลมุนยุ่งเหยิงมาก แต่ก็ใช้เวลาคุ้มค่าเพราะเป็นรายได้ก้อนใหญ่ท้ายสุด เมื่อทุกอย่างทุกงานได้รับผลกระทบจากโควิด19
2 ปีก่อนนี้ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย ข้าพเจ้าเดินสวนกับบีบ่อย ๆ แต่ไม่ได้หยุดทักทายกัน บีมักจะเดินออกกำลังกาย หลายกิโลเมตร ช่วงค่ำ ๆ ตอนนี้โควิด19 ผ่านพ้นไปแล้ว เป็นโอกาสดี ได้คุยสารทุกข์สุขดิบในแวดวงคนทำงานอิสระ

“บี ตอนนี้ทำอะไรอยู่คะ”
“ผมว่างงาน ครับ”
โอ้ โห คนอะไร ตกงาน ดูตลกมากกว่าน่าเห็นใจ ถ้าว่างงาน พี่มีงานที่เหมาะกับ บี มากเลย พี่ว่า บีทำได้ งานนี้เป็น Project Manager ช่วยน้อง ๆ ที่กลับบ้านไปพัฒนางานในชุมชน เราช่วยพัฒนาศักยภาพน้อง ๆ บีสนใจ มั้ย
ข้าพเจ้าเปิดเฟซบุ๊ก ประกาศรับสมัครเจ้าหน้าที่โครงการหนึ่ง ตำแหน่ง Project Manager ให้บีดู บี อ่าน และตอบอย่างรวดเร็ว
“ขอบคุณครับ ที่แนะนำ ผมขอผ่าน ครับพี่”
มาทำความรู้จักงานที่เรียกว่า “ที่ปรึกษาโครงการ”
บี วิสุทธิชัย หลังเรียนจบด้านการเงิน ทำงานในตำแหน่ง Senior Manager ฝ่ายวางแผน และพัฒนาองค์กร จากนั้นออกมาเป็นที่ปรึกษาอิสระ หรือ Freelance Consultant งานที่ปรึกษาโครงการ การพัฒนาองค์กร การประเมิน และการวางแผนยุทธศาสตร์หน่วยงานของภาครัฐ โดยรับงานผ่านบริษัทที่ดำเนินการด้านให้การปรึกษา PMQA (เกณฑ์พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ Public Sector Management Quality Award) มากว่า 7 ปี
“เราเข้าไปดูเป้าหมายองค์กรระยะสั้น ระยะยาวมีอะไรบ้าง จะไปถึงเป้าหมายนั้นต้องทำอย่างไร สถานะบุคลากร ความรู้เป็นอย่างไร เช่น บุคลากรมีสมรรถนะ (competency) อะไรบ้าง ต้องการพัฒนาภาพรวมองค์กรอะไร เราทำ roadmap ระยะ 3-5 ปีให้ กำหนด milestone ให้ผู้บริหารกำกับดูแล เช่น หากทำช้าไป ก็จะต้องเร่งความเร็วขึ้น”
“บทบาทที่ปรึกษา เราให้คำแนะนำ แต่การลงมือทำเป็นขององค์กร ไม่ว่าลูกค้าจะเป็นหน่วยงานอะไร ที่ปรึกษาก็ออกแบบเพื่อ plug-in ได้หมด ความท้าทายเพิ่มเติม คือต้องปรับการทำงานใช้ zoom ประชุม 20-200 คน ช่วงโควิด19″
ความท้าทายในงานที่ปรึกษาโครงการ
“ด้วยลักษณะงาน ข้อแรก เราจะไม่ได้ทำที่เดิมตลอด จะเปลี่ยนลูกค้าไปเรื่อย ๆ องค์กรหนึ่ง ๆ จะใช้งานเราไม่เกิน 3 ปี หลังจากนั้นจะมีคำถามว่าทำไมจึงใช้ที่ปรึกษาคนเดิม ๆ ในทางเดียวกัน ที่ปรึกษาก็ไม่มีอะไรจะสอนเขาแล้ว ข้อต่อมา จะต้อง update เครื่องมือใหม่ ๆ หรือเครื่องมือตามกระแสโลกมาเสนอลูกค้าองค์กรต่าง ๆ เช่น เพื่อตอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เราต้องไปติดตามว่าต่อไป หน่วยงานกำกับนโยบายภาครัฐจะใช้เครื่องมืออะไรใหม่ ๆ”
“ได้ทำงานกับองค์กรหลากหลาย เจอคนหลากหลายประเภท ระบบการบริหารจัดการ และบุคลากรของหน่วยงานที่แตกต่างกัน บางหน่วย หัวหน้าบริหารเบ็ดเสร็จ เจ้าหน้าที่ระดับรองลงมาทำตามคำสั่งเท่านั้น การจะปรับเปลี่ยน หรือแก้ไขจุดอ่อนองค์กรก็ต้องให้บุคคลากรระดับหัวหน้าเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง หรือจุดเปลี่ยน ที่ปรึกษาจะต้องมีเครื่องมือที่แข็งแรงเพื่อการพัฒนาองค์กร มีความรู้หลากหลาย พัฒนาต่อยอดความรู้เองได้”

เมื่อที่ปรึกษาเข้า mode นั่งแช่ร้านกาแฟ นิยามความมั่นคงคือ “ต้องรู้จักเก็บเงิน”
“ครับ ไม่ใช่เสมือน แต่ว่างงานจริง ๆ เงินเก็บใกล้จะหมดลงแล้ว ใช้เงินของรายได้ปี 2565”
จากห้องประชุมติดแอร์เย็น ๆ มาเดินทอดหุ่ย นั่งแช่ร้านกาแฟได้ ไม่รีบ เพราะไม่มีงาน เพราะหน่วยงานรัฐตัดงบพัฒนาบุคคลากรไปใช้โควิด19 ต้องรองบประมาณปีถัดไป
“พวกเพื่อน ๆ วงการที่ปรึกษาใช้เวลาว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ ในส่วนที่พอจะเป็นรายได้คือการเป็นวิทยากร”
คนรับจ้างทำงานอิสระ อิสระความหมายคือ งานตามใจผู้ว่าจ้าง งานจบเป็นครั้ง ๆ ไม่ใช่งาน routine หรืองานประจำ จ้างแล้วจบ ดังนั้นต้องหางานทำหมุนวนไปเรื่อย ๆ สภาพงานหนักตามแต่ต้องการ เช่น ร้อนเงินก็ต้องทำมาก ยิ่งหากต้องการความมั่นคง รายได้ใกล้เคียงกับคนทำงานประจำ
“ความมั่นคงมี คือต้องรู้จักเก็บเงิน ความไม่มั่นคง คือความมั่นคง บางปีรับงาน 7-8 โครงการ ทำงานแทบจะไม่มีวันหยุดเลย ได้ผลประกอบการน่าพอใจ”
เคยชินกับความสบาย ปีนี้ใช้เงินเก่า จะรัดเข็มขัดอย่างไร?
“รู้แต่ ไม่ค่อยประหยัด เพราะผมคุ้นชินความสบาย ทุกด้าน กิน ใช้ ก็ประหยัด แม้แต่อาหารฟาสต์ฟู้ดก็มีราคาสูงเกินไป พยายามซื้อวัตถุดิบทำอาหารกินที่บ้าน”
เลิกเที่ยว ตัดค่าใช้จ่ายสังคมหรือไม่
“เมื่อคืนเพิ่งเที่ยว ไปกินข้าวกับเพื่อน”
เพิ่มค้าขายเป็นงานเสริม จะรอดหรือไม่
“ทุกวันนี้ คนทั่วไป หลังเลิกงานก็มาไลฟ์ขายครีมกันหมด ขายใคร คนขายเต็มไปหมด ผมเป็นที่ปรึกษา ผมมองว่างานที่สอง ที่สาม ต้องต่อเนื่องเชื่อมกัน ไม่ใช่ข้ามห้วยไปขายของ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ความถนัดของตนเอง ไม่มีของ ๆตัวเอง จะต้องเสี่ยงลงทุนเพิ่มอีก”
วางแผนชีวิตของหัวหน้าครอบครัว
“กำลัง งง กลับมาอยากได้รายได้มั่นคง”
เพื่อกำหนดคุณภาพชีวิต และดูแลคนป่วยได้ มีทางเลือก 2 ทาง คือ หางานประจำ หรือ ทำงานอิสระที่มีสม่ำเสมอ เป็นจุดที่ไม่ง่าย ท้าทายมาก ในสภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้
“ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของพ่อเป็น fix cost ปรับลดไม่ได้ ค่าคีโม หากไม่ได้ประกันสังคม ต้องเกิดวิกฤตทางการเงินแน่นอน ค่าจ้างคนดูแล พ่อ และแม่บ้านรวม 2 คน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร รวมค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 3 หมื่นบาท”
ทางเลือก ยกเครื่องใหม่ เพื่อรับค่าตอบแทนสูงขึ้น
“ภาคธุรกิจต้องการผู้รับงานที่มีชื่อเสียง หรือบริษัทต่างชาติ หากเราจะยกระดับ หรือขยายลูกค้าไปเอกชน จะต้องไปร่วมทีมของบริษัทใหญ่ๆ แต่ profile ผมเหมือนมด ไปเทียบกับ scale งานช้างไม่ได้ หรือต้องเป็น expertise ให้ได้ เรื่อง ๆ นี้เขาจะต้องนึกถึงผม ซึ่งการจะเป็นที่หนึ่งของเรื่องใด ๆ จะต้องเป็น First Mover คือคนที่เดินเข้าไปเป็นคนแรก และทำให้เกิดภาพจำในใจของลูกค้าให้ได้”
เมื่ออายุ 60 ปีจะทำอย่างไร
“ควรมีเงินเก็บอย่างน้อย 20 ล้านบาท ตอนนี้ไม่มีสักล้าน อายุ 60 ปี ควรมีเงินใช้จ่ายเดือนละ 7 หมื่นบาท แบ่งออกเป็นค่าใช้จ่าย 4 หมื่นบาท อีก 3 หมื่นบาท เก็บสำรองค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ดังนั้นตั้งต้นปีแรก ควรมีสำรองค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 360,000 บาท เป็นเบื้องต้น แต่ทำงานมา 20 ปียังไม่มีเงินเก็บ”
“เดือนสองหมื่นห้า ไม่พอใช้ครับ”
นี้เป็นคำตอบว่าทำไม บี จึงขอผ่านกับงานที่ข้าพเจ้าชวนทำ สำหรับคนทำงานอิสระที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ๆ หนึ่งซึ่งไม่มีกิจการใหญ่ หรือทรัพย์สมบัติตกทอดมากพอ เพื่อให้ชีวิตมีเวลาทอดหุ่ย ซดกาแฟในร้านเกร๋ ๆ Meeting สังสรรค์ทุกเดือน และมีโอกาสท่องเที่ยวต่างประเทศบ้าง
ข้อมูลประกอบสถานการณ์แรงงานนอกระบบ
แรงงานนอกระบบถือเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง ทั้งจากรายได้ที่น้อย และลักษณะความไม่แน่นอนของอาชีพ โดยมีรายได้เฉลี่ยเพียง 6,586 บาทต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่ารายได้ของแรงงานลูกจ้างในระบบถึงกว่าเท่าตัว ประมาณ 15,502 บาทต่อเดือน ข้อสอง ไม่มีสวัสดิการคุ้มครองครอบคลุมในหลายกรณี ซึ่งผู้อยู่ในระบบประกันสังคมหรือพนักงานของรัฐได้รับ เช่น ค่าคลอดบุตร เงินสงเคราะห์จากการลาคลอด เงินสงเคราะห์บุตร เงินบำนาญชราภาพ และเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพหรือว่างงาน ข้อสาม เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนเนื่องจากไม่มีหลักฐานการรับเงินรายได้ ทำให้การกู้เงินในระบบค่อนข้างยาก ขาดโอกาสด้านการฝึกอบรม หรือถึงอบรมไปก็ไม่มีผลต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้น ข้อสุดท้าย คือการออมเงินทำได้น้อย และปัญหาหนี้สิน ดังนั้นหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินเช่น การเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ว่างงาน ชราภาพ หรือเช่นการแพร่ระบาดของโควิด19 จะถูกกระทบรุนแรง และรวดเร็วกว่าแรงงานกลุ่มอื่น